มาถึงตอนนี้ก็เป็นเวลากว่า 10 ปีแล้วที่บิทคอยน์ (Bitcoin) ถือกำเนิดมา หลาย ๆ ท่านคงรู้จักกันบ้างพอสมควรแล้วในฐานะที่เป็นคริปโทเคอร์เรนซี (cryptocurrency) สกุลแรกและสกุลหลัก แต่ก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่มากว่า จะสามารถเรียกคริปโทเคอร์เรนซีว่าเป็น “เงิน (currency)” ได้เต็มปากหรือไม่ เพราะไม่เข้าข่ายคุณสมบัติของความเป็นเงิน นั่นคือ ยังคงมีมูลค่าผันผวนสูงมากจากการเก็งกำไร และยังใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนในวงจำกัดเพียงเท่านั้น

.

ในปัจจุบัน มีคริปโทเคอร์เรนซีสกุลอื่น ๆ ที่ออกตามมาอีกมากซึ่งมีการซื้อขายกันอยู่ (ไม่นับรวมลิบร้า (Libra) ที่มีแผนจะออกใช้ในปี 2020 โดยเฟสบุ๊ค และต้องการกำจัดข้อด้อยของคริปโทเคอร์เรนซี โดยเฉพาะการมีมูลค่าผันผวน เพื่อการก้าวเป็นเงินสกุลหลักของโลก) โดยคุณสมบัติหลักๆ ที่คริปโทเคอร์เรนซีใช้เป็นจุดขาย คือ ความเป็นส่วนตัว (Privacy) เพราะผู้ถือคริปโทเคอร์เรนซีไม่ต้องแสดงข้อมูลส่วนบุคคลในความเป็นเจ้าของ (เว้นแต่การเปิดใช้กระเป๋าสตางค์ (wallet) กับบริษัทเอกชนที่ทำหน้าที่เก็บรักษากระเป๋าสตางค์นั้น) และไม่ต้องเปิดเผยตัวตนเวลาโอนระหว่างกัน แตกต่างจากเงินที่โอนผ่านธนาคารพาณิชย์ที่ธนาคารพาณิชย์จะรู้ข้อมูลส่วนบุคคลของเรา โดยคริปโทเคอร์เรนซีจะอาศัยเทคโนโลยีบล็อกเชนและจำเป็นต้องใช้การเข้ารหัส (cryptography) ในการขุดหรือโอนซึ่งมีความปลอดภัยสูง ไม่สามารถผลิตซ้ำได้ อันจะได้กล่าวในรายละเอียดต่อไปด้านล่าง

.

อย่างไรก็ตาม จะมีใครเคยตระหนักหรือไม่ว่า ปริมาณการใช้ธุรกรรมจากคริปโทเคอร์เรนซีเหล่านี้ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นกลับส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อสภาวะแวดล้อมของโลกจนเข้าขั้นวิกฤต จะมีใครเคยนึกหรือไม่ว่า คริปโทเคอร์เรนซีเป็นตัวเร่งของภาวะโลกร้อน…

.

ทำไมคริปโทเคอร์เรนซีจึงเป็นสาเหตุหนึ่งของวิกฤตโลกร้อนได้?

ตอบได้ง่าย ๆ ว่า ระดับการใช้พลังงานของคริปโทเคอร์เรนซีมี “มหาศาล” และมีส่วนหนึ่งที่ “สูญเปล่า”

.

ในกระบวนการขุด (mining) หรือการผลิตคริปโทเคอร์เรนซีจำเป็นต้องใช้ “การถอดสมการทางคณิตศาสตร์” (หรือเรียกว่าการเข้ารหัสตามที่ได้กล่าวข้างต้น) ร่วมกับการบันทึกและยืนยันข้อมูล โดย ระบบของคริปโทเคอร์เรนซีถูกออกแบบมาให้มีรางวัลเป็นคริปโทเคอร์เรนซีสกุลนั้น ๆ ให้กับผู้ที่ทำหน้าที่ช่วยระบบประมวลผลข้อมูล ซึ่งกระบวนการนี้ต้องใช้การถอดรหัสที่ซับซ้อนโดย “คอมพิวเตอร์จำนวนมหาศาล”

.

ดังนั้น ยิ่งขนาดตลาดและปริมาณธุรกรรมของคริปโทเคอร์เรนซีโตขึ้นเท่าใด ก็จำเป็นต้องใช้พลังงานเพื่อประมวลผลการเข้ารหัสที่มากขึ้นไปเท่านั้น โดยกระบวนการขุดเสมือนเป็น “เกม” ที่ผู้ที่แก้รหัสได้เร็วที่สุดจะได้ส่วนแบ่ง หรือรางวัลคือคริปโทเคอร์เรนซีไป ทั้งนี้ ขนาดของตลาดซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีในปี 2019 อยู่ที่ประมาณ 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และจากข้อมูลล่าสุดของ Cambridge Centre for Alternative Finance (ศูนย์วิจัยด้านวิชาการของ Cambridge Judge Business School แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ที่พัฒนาขึ้นเพื่อวัดการใช้พลังงานในการรักษาเครือข่ายบิทคอยน์แบบเรียลไทม์) พบว่า ในปัจจุบัน เครือข่ายเฉพาะของบิทคอยน์ทั้งโลก ใช้พลังงานไฟฟ้ามากกว่า 7 กิกะวัตต์ต่อปี หรือถ้าเทียบเป็นต่อชั่วโมง จะคิดเป็น 64 เทราวัตต์ต่อชั่วโมง ซึ่งเทียบได้กับการใช้พลังงานในระดับที่มากกว่าประเทศสวิตเซอร์แลนด์ทั้งประเทศใช้ในระยะเวลาเดียวกัน

แต่ส่วนที่แย่กว่านั้นคือ ผู้แพ้ในการถอดรหัสได้ใช้พลังงานไฟฟ้าไปกับธุรกรรมที่ไม่ก่อประโยชน์ใด ๆ กับโลกเลย เรียกได้ว่า “สูญเปล่า” จริง ๆ…

.

คิดตามต่อไปว่า เมื่อใช้พลังงานมากก็ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นก๊าซเรือนกระจกออกมาเยอะตามไปด้วย โดยมีประมาณการว่า การขุดบิทคอยน์ออนไลน์ในปี 2018 นั้นผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่ากับการใช้เครื่องบินเดินทาง 1 ล้านเที่ยวบินในระยะทางบินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก (transatlantic flights) (มีหลายท่านอาจคิดต่อว่า ปัจจุบันมีการพูดถึง “Green mining” หรือการขุดคริปโทเคอร์เรนซีโดยใช้พลังงานสะอาด ซึ่งไม่น่าจะมีปัญหากับสิ่งแวดล้อมจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถคำนวณได้ชัดเจนว่า จะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้มากน้อยเพียงใด และพลังงานสะอาดเหล่านั้นจะทดแทนพลังงานแบบเก่าได้แค่ไหน)

,

ดังนั้น เมื่อรู้ผลกระทบที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงจากการเติบโตของคริปโทเคอร์เรนซีแล้ว คำถามที่แท้จริงที่เราต้องตอบ คือ… เหตุใดเราจึงต้องการความเป็นส่วนตัวจากการใช้คริปโทเคอร์เรนซีมากมายนัก? หรือเราต้องการใช้คริปโทเคอร์เรนซีเพื่อทำธุรกรรมสีเทา? หรือเราเพียงแค่ต้องการเก็งกำไรในมูลค่าคริปโทเคอร์เรนซีที่ผันผวน? เหล่านี้ต้องแลกกับหายนะที่เกิดขึ้นกับโลกเรา มันคุ้มแล้วหรือที่เราอาจจะได้กำไรในตอนนี้ แต่สุดท้ายต้องสูญสิ้นเพราะโลกไม่สามารถอยู่อาศัยได้อีกแล้ว?

.

ถึงเวลาที่ต้องเลือกระหว่าง “การทำกำไรชั่วครั้งชั่วคราวและความเป็นส่วนตัวที่เราได้จากการใช้คริปโทเคอร์เรนซี” หรือ “โลกของลูกหลานเรา” อะไรจะสำคัญกว่ากันแน่?

บทความโดย ศุภกฤต ภักดีปฐพี

.

.

SAVE THE CLIMATE

ร่วมหยุดภาวะโลกร้อน กับ KBO EARTH

——————————–

“ลด” การใช้อินเทอร์เน็ต

“ลบ” ดิจิทัลดาต้าที่ไร้ประโยชน์

“ลด” การใช้พลาสติก และกระแสไฟฟ้า

.

ข้อมูลอ้างอิง

https://www.theverge.com/2019/7/4/20682109/bitcoin-energy-consumption-annual-calculation-cambridge-index-cbeci-country-comparison
https://digiconomist.net/bitcoin-energy-consumption
https://thaipublica.org/2019/08/cryptocurrency-bitcoin-energy-consumption-cbeci/
https://medium.com/@smbilodeau/to-be-green-or-not-to-be-that-is-the-crypto-question-536f302f4498