ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ทุกท่านคงทราบกันดีอยู่แล้วจากประสบการณ์ตรงของท่านเองว่า พวกเราและชาวโลกต่างได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มากมายขนาดไหน เริ่มตั้งแต่การระบาดในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน จนแพร่กระจายไปทั่วโลก เพราะทุกคนอยู่ในยุคแห่งการติดต่อสื่อสารแบบไร้พรมแดน ผู้คนเดินทางติดต่อค้าขายกันตลอดเวลา มันจึงเปรียบเสมือน “เหรียญสองด้าน” เมื่อเหรียญด้านหนึ่งกำลังให้ผลประโยชน์อย่างรวดเร็ว แต่เมื่อมีเหตุปัจจัย ผลของเหรียญอีกด้านหนึ่งก็ปรากฏขึ้นมาเช่นกัน ถือว่าเป็นไปตามกฎของธรรมชาติล้อไปตามยุคตามสมัยที่มันเป็นอยู่ หรืออาจจะกล่าวอ้างถึงทฤษฎีสัมพัทธภาพของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ก็ได้ ถ้าหากการอ้างถึงนี้จะทำให้ดูโก้หรูขึ้นมาบ้าง

 ขณะที่เกิดเหตุการณ์แพร่ระบาดทั่วโลกอยู่นั้น อีกฟากฝั่งหนึ่งคือ เหตุการณ์ที่นักสิ่งแวดล้อมเริ่มนำข้อมูลที่มีนัยสำคัญมานำเสนอบนเวทีโลก นั่นคือ การลดลงของมลภาวะทางอากาศในเมืองใหญ่ ๆ ของโลก ซึ่งสะท้อนการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในวิกฤตโลกร้อน เช่น ในประเทศจีน มลภาวะทางอากาศได้ลดลงไปประมาณ 70% จากระดับเดิม ซึ่งจากข้อมูลก่อนหน้านี้ในทางทฤษฎี ไม่ว่าจะมีการรณรงค์อย่างหนักหน่วงขนาดไหนก็ตาม นักสิ่งแวดล้อมก็ไม่เคยคาดคิดเลยว่า มลภาวะทางอากาศจะสามารถลดลงได้มากขนาดนี้ หรือจะพูดว่า ในภาวะปกติตามกระแสการเติบโตทางอุตสาหกรรมของโลก หรือการใช้ชีวิตประจำวันที่เรียกว่า “ไลฟ์สไตล์” ของมนุษย์โลกในปัจจุบัน มันไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน แต่ในท้ายที่สุด ด้วยพลังแห่งธรรมชาติมันก็มาสำแดงให้พวกเราต้องยอมจำนน สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ก็เป็นไปได้ให้เราเห็นกันในทศวรรษนี้…

อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้ คุณสุพริศร์ได้บอกเล่าให้ท่านผู้อ่านที่ติดตามเพจและเว็บไซต์ของ KBO Earth ทราบกันไปแล้วว่า เราอย่าเพิ่งดีใจไปกับมัน เพราะเหตุการณ์ที่เมืองใหญ่ ๆ ในโลกที่มีมลภาวะทางอากาศลดลงนั้นเป็นเพียงสภาวะ “ชั่วคราว” หรือสภาวะ “จำยอม” เท่านั้น นั่นหมายถึงมนุษย์ส่วนใหญ่ “จำยอม” แต่ไม่ “จำนน” และเมื่อใดที่โรคระบาดร้ายแรงนี้บรรเทาลง จิตที่อยู่ภายใต้ความกดดันและความอยากจะปรากฏออกมา และพุ่งทะยานเหมือนม้าที่เพิ่งถูกปล่อยในสนามแข่งม้าเลยทีเดียว

ทีนี้เรามาดูกันว่า ในช่วงสภาวะจำยอมดังกล่าว มันกำลังเกิดอะไรขึ้นบ้าง? การล็อกดาวน์ที่เกิดขึ้นในเมืองต่าง ๆ ทั่วโลก ผู้คนถูกบังคับให้อยู่แต่ในบ้าน กิจกรรมต่าง ๆ ที่เคยทำอยู่ข้างนอกบ้านก็จะถูกปรับแผนมาให้ทำกิจกรรมเหล่านี้ในบ้าน เราจะคุ้นชินจากข่าวหรือสื่อต่าง ๆ อยู่แล้วว่า หนึ่งในกิจกรรมที่โดดเด่นขึ้นมามาก คือ “กิจกรรมออนไลน์” ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่า ข้อมูลข่าวสารที่มาในรูปแบบของดิจิทัลดาต้าก็เพิ่มขึ้นมากเป็นเงาตามตัว ประมาณการจากข้อมูลสถิติพบว่า การใช้ข้อมูลดิจิทัลดาต้าเพิ่มขึ้นมาถึงสองเท่า โดยในภาวะเหตุการณ์ปกติ KBO Earth เองก็พยายามรณรงค์เพื่อลดการใช้ข้อมูลเหล่านี้อยู่แล้ว ด้วยเหตุผลสำคัญที่ว่า มันมีผลซ้ำเติมต่อวิกฤตโลกร้อนอย่างมหาศาล

 แต่อย่าลืมว่ากิจกรรมออนไลน์ที่กำลังเกิดขึ้นไม่ได้มาแค่กิจกรรมเดียว แต่มาคู่กับกิจกรรมออฟไลน์ด้วยอย่างแน่นอน เพราะมนุษย์ยังคงต้องกินต้องใช้ ซึ่งสองกิจกรรมนี้ก่อให้เกิด “ขยะ” ทั้งสิ้น ทั้งนี้ ผู้เขียนจะขอจำแนกขยะทั้งสองชนิดให้เห็นกันอย่างชัดเจนในบทความนี้ ดังต่อไปนี้

1. ขยะออนไลน์

จากผลของการล็อกดาวน์ คนทั้งครอบครัวถูกบังคับให้อยู่แต่ในบ้าน ผู้ที่เป็นเสาหลักของบ้านก็ต้องปรับตัวมาทำงานผ่านอินเทอร์เน็ต ข้อมูลที่เคยวิ่งอยู่แค่ในบริษัทก็ต้องวิ่งมาที่บ้านก่อนไปบริษัท แล้วค่อยถูกส่งไปที่อื่น ๆ ตามแต่ชนิดของงานที่ทำอยู่ เวลามีการประชุมก็จะต้องใช้ video call หรือ conference call ทำให้เซิฟเวอร์และดาต้าเซ็นเตอร์ต่าง ๆ ต้องทำงานหนักขึ้น แถมจะต้องเผื่อพื้นที่ในการสำรองข้อมูลที่ต่อมาก็จะกลับกลายเป็นข้อมูลขยะ ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปก็จะถูกสะสมอยู่ใน Zombie server

ขณะเดียวกัน เด็ก ๆ หรือลูก ๆ ที่อยู่บ้านกับพ่อแม่ก็จำเป็นต้องเรียนหนังสือผ่านช่องทางออนไลน์ หรือการรับการบ้านจากคุณครูมาทำ แต่อย่างที่ทราบกันอยู่ เวลาที่ถูกใช้ไปกับสิ่งเหล่านี้มันไม่นานเมื่อเปรียบเทียบกับกิจกรรมการผ่อนคลายของเด็ก ๆ  นั่นคือ การเล่นเกมคอมพิวเตอร์ ซึ่งเด็กหลาย ๆ คนก็เลือกที่จะเล่นเกมออนไลน์กันทั้งวัน ทำให้เซิฟเวอร์และดาต้าเซ็นเตอร์ของเกมเหล่านี้ต้องทำงานหนักขึ้นอย่างมากโดยที่ปฏิเสธไม่ได้ก็จะมีข้อมูลขยะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการบันทึก stage ของการเล่น พวกรางวัลต่าง  ๆ หรือ bug ของการเล่นเกม ซึ่งล้วนต้องใช้พื้นที่มหาศาลของดาต้าเซ็นเตอร์ในการเก็บข้อมูลทั้งสิ้น

ส่วนครอบครัวที่ยังมีสมาชิกที่ไม่ได้ทำงานข้างนอก เช่น แม่บ้านหรือสมาชิกผู้สูงอายุ พอมาเจอสถานการณ์ล็อกดาวน์ก็จะเกิดอาการเหงา และส่วนใหญ่ด้วยความเป็นครอบครัวที่อบอุ่น สมาชิกส่วนนี้ก็จะคอยรักษามิตรภาพของครอบครัวและเพื่อน ๆ ทำให้เกิดสภาวะสังคมออนไลน์ จาก video call และกิจกรรมส่วนนี้ก็จะทำให้เกิดการใช้ข้อมูลดิจิทัลดาต้าผ่านดาต้าเซ็นเตอร์ พร้อมข้อมูลขยะเหมือนกิจกรรมอื่น ๆ เช่นกัน

หลังเวลาทำงานแบบออนไลน์ในรูปแบบต่าง ๆ กัน ทุกคนก็จะมีช่วงเวลาที่สมาชิกของครอบครัวมารวมตัวกันเพื่อรับประทานอาหารหรือนั่งพักผ่อน แต่การที่ไม่สามารถออกไปนอกบ้านได้เหมือนแต่ก่อนก็เลยต้องพึ่งพาความบันเทิงออนไลน์ กิจกรรมเหล่านี้จึงสะสมและทำให้เกิดการใช้ดิจิทัลดาต้าแบบเป็น “สายน้ำที่ไหลไม่หยุด” และถ้าบ้านไหนสมาชิกเกิดตกลงกันไม่ได้ว่าจะชมภาพยนตร์เรื่องไหน ก็จะเกิด Cinema Square ขึ้นในบ้าน สำหรับการใช้ดิจิทัลดาต้าของส่วนนี้จะหนักหน่วงที่สุดเพราะจะเกิดการใช้ดิจิทัลดาต้ากันเป็นสายน้ำหรือที่เรียกว่า “Super Data Streaming” นั่นเอง ส่วนนี้เป็นส่วนที่มีผลกระทบมากที่สุดในเรื่องของขยะออนไลน์ สะท้อนข่าวล่าสุดที่แม้ผู้ประกอบการที่ให้บริการด้านนี้เอง กลับยังต้องลดคุณภาพของสัญญาณลง เพื่อให้รองรับการใช้งานอย่างมหาศาลที่กำลังเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้

2. ขยะออฟไลน์

กิจกรรมออนไลน์ทุกกิจกรรมไม่สามารถดำเนินไปได้ตลอด หากร่างกายของผู้ทำกิจกรรมไม่ได้รับพลังงานอย่างเพียงพอ มิหนำซ้ำการถูกบังคับให้ใช้ชีวิตแบบจำยอมกลับทำให้เกิดสภาวะ “ต้องการสิ่งทดแทน” หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า compensation ทำให้เกิดความต้องการอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นมากกว่าแต่ก่อน ซึ่งในระยะยาวสำหรับผู้ที่ไม่เดือดร้อนด้านการเงิน ก็จะได้รับความเดือดร้อนด้านสุขภาพร่างกาย เพราะมักจะอุปโภคบริโภคโดยไม่ค่อยได้เคลื่อนไหว อย่างไรก็ตาม ในทางตรงกันข้าม สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการถูกให้หยุดงานและเริ่มมีปัญหาด้านการเงินก็จะได้ผลกระทบทั้งด้านสุขภาพที่อาจเกิดจากการอดมื้อกินมื้อ และผลกระทบทางจิตใจไปพร้อม ๆ กัน

สภาวะถูกบีบบังคับจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโดยการปิดเมือง ทำให้กิจกรรมในการซื้อหาข้าวของในการอุปโภคบริโภค ไม่ว่าจะเป็นอาหารหรือของใช้จำเป็น ถูกบีบคั้นด้วยเวลาและการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) ทุกอย่างจึงต้องการความสะดวกรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น และตรงนี้เองมนุษย์เราก็จะได้ของแถมคือ “ขยะ” จากความสะดวกรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นหีบห่อพัสดุนับล้าน ๆ ตันที่เกิดจากการซื้อของออนไลน์ กล่องหรือถุงพลาสติกใส่อาหารที่มาจากร้านอาหารที่ไม่อนุญาตให้เข้าไปนั่งรับประทาน  ขยะที่เกิดจากการป้องกันตัวเองไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัย ถุงมือ ขวดเจลล้างมือ ชุดป้องกัน หรือแม้กระทั่งกระดาษชำระเป็นตัน ๆ ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นขยะที่พอกพูนจนเป็นขยะกองโตแบบทวีคูณจากการใช้ชีวิตตามปกติทั้งสิ้น

ท่านผู้อ่านลองพิจารณาดูเถิดครับว่า กองขยะเหล่านี้ที่เกิดขึ้นเพิ่มขึ้นทุกวันในทุก ๆ ประเทศทั่วโลกเป็นเวลานานนับหลายเดือนในช่วงเวลาที่ต้องการสิ่งทดแทนนี้ มันจะสะสมมากมายขนาดไหนครับ?

หลังโควิด-19 ผ่านพ้นไป อะไรจะเกิดขึ้น?

 การถูกล็อกดาวน์เป็นเวลานาน ๆ มนุษย์จะได้ประสบการณ์ใหม่ในการใช้ชีวิตจากเหตุการณ์นี้ และแน่นอนส่วนหนึ่งก็จะถูกปรับนำไปใช้ในชีวิตประจำวันในอนาคต ยกตัวอย่างเช่น คนที่ไม่คุ้นเคยกับการชอปปิงออนไลน์ เมื่อมีประสบการณ์แรกแล้วในช่วงวิกฤตโควิด-19 นี้ ก็จะเริ่มมั่นใจ เห็นความสะดวกสบาย และหันไปใช้บริการในช่องทางออนไลน์มากขึ้น พนักงานที่ทำงานได้จากที่บ้าน บริษัทก็จะเริ่มเปิดใจมากขึ้นกับการ Work from Home หรือการเป็น Home office รวมทั้งการประชุมของพนักงานทั้งในและนอกเวลาทำงานในอนาคต โรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ก็จะเริ่มนำการศึกษาแบบออนไลน์มาใช้กับนักเรียนนักศึกษามากขึ้น

ย้อนกลับไปในช่วงต้นบทความที่ผู้เขียนได้กล่าวถึง “ม้าที่คึกคะนองจากการกักเก็บตัวและพร้อมที่จะออกตัวแบบพุ่งทะยาน” ผู้เขียนขอย้ำอีกครั้งว่า นี่จะเป็นสิ่งที่น่ากลัวยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด เพราะไม่ว่าจะเป็นผู้นำประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจหรือประเทศที่ร่ำรวย เขาจะมองว่าที่ผ่านมาเป็นการสูญเสียอันใหญ่หลวงและจะต้องมีการ “เอาคืน” บางประเทศอาจจะมองว่า นี่เป็นโอกาสในการแซงโค้งเพื่อช่วงชิงความเป็นหนึ่ง ซึ่งก็จะต้องพยายามออกตัวกันแรงสุด ๆ ดังนั้น ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่กำลังจะตามมานั้นน่ากลัวเสียยิ่งกว่าอะไรทั้งสิ้น

ทั้งหมดนี้แปลว่าอะไร? ถ้าเราคำนวณทางคณิตศาสตร์จากขยะออนไลน์และออฟไลน์ที่เพิ่มขึ้นเป็นสองหรือสามเท่าในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 แม้เหตุการณ์จะทุเลาหรือสงบลงไปแล้ว พฤติกรรมของมนุษย์พร้อมประสบการณ์ใหม่ที่ได้รับจะยังอยู่ และพฤติกรรมนี้กลับจะทำให้เกิดขยะเพิ่มขึ้นมามากมายกว่าเดิมอย่างแน่นอน ถึงแม้ว่ามาตรการล็อกดาวน์จะถูกยกเลิก แต่ขยะส่วนที่เพิ่มขึ้นมาแล้วมันไม่ได้หายไปไหน และยังจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากช่วงเวลาที่กลับมาเป็นปกติแล้วอย่างน้อยอีก 30-50% จากระดับที่เคยเป็น

นี่คือการเพิ่มขึ้นจากพฤติกรรมใหม่อย่างถาวร และนี่คือสิ่งที่พวกเราทุกคนจำเป็นต้องตระหนักและเตรียมการรับมือกับมันครับ!

แล้วเราจะเตรียมการหรือแก้ไขปัญหานี้กันอย่างไร?

คำตอบเดียวที่จะเตรียมการและแก้ไขได้อย่างยั่งยืนคือ การสร้าง “ความตระหนักรู้” และ “จิตสำนึก” ซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่จะเป็นเครื่องมือให้เราลดขยะของแถมที่มาพร้อมกับโรคระบาดในครั้งนี้ แต่จิตสำนึกดังกล่าวจะมีผลในระดับที่มีนัยสำคัญ หากพวกเราทุกคนพร้อมใจกันปฏิบัติ สำหรับผู้นำหรือผู้ที่มีอำนาจในการบริหารประเทศหรือเจ้าหน้าที่ภาครัฐก็ควรมีความตระหนักรู้และมีจิตสำนึกในประเด็นนี้อย่างจริงจัง ทุกคนต้องช่วยกัน ต้องร่วมกันทำให้ดีขึ้นให้ได้ เหมือนกับตอนที่เราพร้อมใจกันต่อสู้ขณะที่กำลังเกิดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาดอย่างหนัก และได้รับชัยชนะในเบื้องต้นจากอัตราผู้ติดเชื้อที่ชะลอลงมากแล้ว

 สาเหตุที่ผู้เขียนสรุปคำตอบดังข้างต้น ก็เนื่องมาจากประสบการณ์ช่วงหนึ่งของชีวิตผู้เขียนที่มีโอกาสไปร่วมทำโครงการจัดตั้ง “โรงไฟฟ้าจากขยะ” (Gasification)  ทำให้ผู้เขียนได้รับความรู้และประสบการณ์ที่จะขออนุญาตแชร์เป็นข้อคิด และข้อมูลบางส่วนให้กับท่านผู้อ่านในที่นี้…

ขยะทุกชนิดบนโลกนี้มีส่วนหนึ่งที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ อีกส่วนหนึ่งก็สามารถนำมาแปรรูปเพื่อใช้ทางการเกษตร เช่น ปุ๋ยอินทรีย์ บางส่วนสามารถแปรรูปเป็นพลังงานต่าง ๆ โดยส่วนนี้มีเทคโนโลยีทันสมัยที่ทำให้เกิดมลภาวะน้อยมากจากการแปรรูปขยะ และส่วนที่เหลือจะต้องกำจัดออกไป

หากว่าด้วยกิจกรรมในการกำจัดขยะ มีตัวเลขกลม ๆ ที่เราควรจะทราบกันไว้ คือ ประสิทธิภาพของระบบพลังงานในการกำจัดขยะอยู่ที่ประมาณ 30% ของพลังงานที่ใช้ไปทั้งหมด นั่นคือ หลังจากการใช้พลังงานในการกำจัดขยะ เราจะได้รับพลังงานกลับคืนมาเพียง 30% จากการกำจัดขยะนั้น เช่น ใช้ไฟฟ้าเผาขยะไป 1 กิโลวัตต์ก็จะได้พลังงานกลับคืนมา 30% คือประมาณ 300 วัตต์ กล่าวคือ แม้ว่าเราจะสามารถกำจัดขยะที่สะสมเหล่านั้นมาได้หมดด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน แต่เราก็ยังจำเป็นต้องใช้ “พลังงานไฟฟ้า” โดยสุทธิในการกำจัดขยะ (ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้โลกร้อน) ดังนั้น ตรรกะที่ถูกต้องที่สุดคือ “การลดขยะที่ต้นทาง” ไม่ใช่การเพิ่มสมรรถนะของเทคโนโลยีกำจัดขยะ

ผู้เขียนขอยืนยันว่า ด้วยความรู้และเทคโนโลยีที่โลกเรามีอยู่ ณ ขณะนี้ ดีเกินพอที่จะกำจัดขยะที่สะสมมานาน อย่างไรก็ตาม ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ความรู้และเทคโนโลยี แต่กลับอยู่ที่เรื่องของ “ผลประโยชน์” “การบริหารจัดการ” และ  “จิตสำนึกที่จะจริงใจในการลดมลภาวะของโลก” มากกว่า

นอกจากนี้ ผู้เขียนจะขอตอบคำถามในเรื่องใกล้ตัวทุกท่าน นั่นคือ เหตุใดประเทศไทยยังคงมีขยะมากมาย? การตั้งโรงงานกำจัดขยะหรือแม้แต่การแปรรูปขยะเป็นพลังงาน เหตุใดจึงทำได้ยากนัก?

คำตอบก็คือ ข้อความเดิมที่ว่า “ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยี แต่เป็นเรื่องของผลประโยชน์ การบริหารจัดการ และจิตสำนึกที่จะจริงใจในการลดมลภาวะของโลกมากกว่า” เพราะจากความรู้สึกดั้งเดิมของคนโบราณว่าขยะเป็นของน่ารังเกียจ ไม่มีใครต้องการ ในสมัยก่อนการกำจัดขยะแบบเก่า ๆ ก็ใช้วิธีเผาหรือฝังกลบ หากใครมีอายุมากกว่า 50 ปีและเป็นคนกรุงเทพฯ ก็ยังจะทันเห็นภูเขาขยะขนาดมหึมา ณ บริเวณที่ตั้งของสวนจตุจักรในปัจจุบัน ในทางตรงกันข้าม สมัยนี้กลับกลายเป็นว่า ขยะคือเหมืองทองคำที่หลาย ๆ คนมองข้าม ซึ่งผู้เขียนจำได้ว่า เมื่อรัฐบาลเริ่มประกาศสนับสนุนการแปรรูปขยะเป็นพลังงาน ต่างชาติที่เป็นเพื่อนบ้านเราก็มาหาซื้อบ่อขยะในทันที พอมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ทุกอย่างก็จะเป็นไปอย่างเชื่องช้าจนกว่าผลประโยชน์จะลงตัวกันทุกฝ่าย… และนี่ก็เป็นความจริงที่กำลังเกิดขึ้น

 อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนก็ยังแอบมีความหวังเล็ก ๆ กับกระบวนการกำจัดขยะของประเทศไทย จากประสบการณ์ครั้งหนึ่งที่ผู้เขียนเดินทางไปเยี่ยมเมืองซีอาน ประเทศจีน ซึ่งจำได้เป็นอย่างดีว่า ตอนกำลังเดินออกจากสถานที่ท่องเที่ยวสุสานหุ่นตุ๊กตาทหาร ผู้เขียนดื่มน้ำจากขวดพลาสติกที่ซื้อมา แต่ยังไม่ทันหมดขวดดีนัก ก็มีหญิงสูงอายุคนหนึ่งเข้ามาใกล้ ๆ แล้วมาขอขวดน้ำเปล่าจากมือผู้เขียนไปทันที และภายหลังจากที่ผู้เขียนยื่นขวดดังกล่าวไปให้หญิงผู้นั้นแล้วก็มองไปในพื้นที่รอบ ๆ ผู้เขียนไม่เห็นขยะสักชิ้นเดียวที่อยู่บนพื้น นี่เป็นเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นว่า ผลประโยชน์จากกระบวนการกำจัดขยะของจีนลงตัวแล้ว สิ่งที่เราเรียกว่าขยะและพร้อมที่จะทิ้งมันไป จะมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่มองเห็นว่าเป็นขุมทรัพย์และรับไปดูแลต่อ

นี่คือ “Win-win situation” ซึ่งผู้เขียนได้แต่รอคอยว่า เมื่อไหร่ประเทศไทยที่รักของเราจะเดินไปถึงจุดนี้ได้ครับ…

บทความโดย ร.อ. พิทักษ์ ตีรณกุล ร.น.