คงปฏิเสธไม่ได้ว่าช่วงเดือนธันวาคมของทุกปีคือช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองและผ่อนคลายของทุกคน ปีนี้ก็เช่นกัน ยิ่งเมื่อกรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่าบ้านเราจะได้สัมผัสอากาศหนาวที่แท้จริง โดยช่วงที่หนาวเย็นที่สุดคือปลายปี 2562 ถึงต้นปี 2563 อุณหภูมิต่ำสุดที่ 7-8 องศาเซลเซียส ส่วนกรุงเทพฯ ต่ำสุดที่ 15-17 องศาเซลเซียส หลายคนถึงกับตื่นเต้นเพราะเป็นที่รู้กันมานานว่า ประเทศไทยมี 3 ฤดู คือ ร้อน ร้อนมาก และร้อนมากที่สุด แม้ว่าหลายครั้งจะลงเอยที่อุณหภูมิร้อนเหมือนเดิม แต่ก็พอมีอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้ตื่นเต้นบ้าง ที่สำคัญไม่แพ้กันคือเดือนธันวาคมยังเป็นเดือนที่ชาวไทยทุกคนตั้งตารอคอย เพราะวันที่ 5 ธันวาคมเป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และยังเป็นวันพ่อแห่งชาติอีกด้วย

.

อันที่จริง ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น ดูเหมือนไม่มีความเกี่ยวข้องกัน แต่ในขณะนี้ ณ เมืองซานติอาโก ประเทศชิลีกำลังมีการประชุมเรื่องโลกร้อนหรือที่เรียกว่า UN Climate Change Conference ซึ่งเหล่าผู้เชี่ยวชาญ นักวิทยาศาสตร์และตัวแทนภาคประชาสังคมต่างกำลังถกเถียงเจรจากันหน้าดำคร่ำเครียดถึงอนาคตของดาวเคราะห์สีน้ำเงินใบนี้ที่กำลังถูกย่างสดอย่างช้า ๆ จากอุณหภูมิโลกที่กำลังไต่ระดับขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ ด้วยสาเหตุสำคัญคือ การสะสมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หนึ่งในก๊าซเรือนกระจก ที่ตอนนี้อยู่ในระดับเกินกำหนดที่ระบบของโลกจะจัดการควบคุมให้สมดุลได้แล้ว ทำให้ผู้เขียนอดสงสัยไม่ได้ว่า ในหลวง ร.9 ผู้ที่พสกนิกรไทยรักและเทิดทูนยิ่ง ทรงมีพระราชดำริในเรื่องนี้ว่าอย่างไร เพราะในฐานะพระมหากษัตริย์นักพัฒนาผู้ทรงพยายามต่อสู้กับความยากจนเพื่อพสกนิกรของพระองค์ เป็นไปไม่ได้เลยที่พระองค์จะไม่ทรงสนพระทัยเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระราชกรณียกิจ…

.

ค้นไปค้นมาก็ได้ทราบว่า พระองค์ตรัสถึงเรื่องโลกร้อนนี้เมื่อ 30 ปีที่แล้วเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2532 พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคลในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา ซึ่งเป็นเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับ “ปัญหาโลกร้อน” การคิดค้นพลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียน จึงขออัญเชิญพระราชดำรัสส่วนหนึ่งมาดังนี้

“…เมื่อเร็ว ๆ นี้เกิดคิดขึ้น หรือควรพูดว่าได้ข้อมูลมาเกี่ยวกับเรื่องเรื่องหนึ่ง ซึ่งเขาเดือดร้อนกันทั่วโลก คือความเดือดร้อนที่ทุกคนจะต้องประสบแต่ไม่ใช่ทุกคนจะได้รู้ แล้วคนที่รู้ บางทีก็โวยวาย ทำให้เกิดความวุ่นวายมากขึ้น ปัญหานี้ได้เคยพูดถึงที่อื่นมาแล้ว เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมของโลก ซึ่งกำลังวุ่นวายกันมากทั้งผู้ใหญ่ทั้งผู้น้อย ทั้งผู้ที่อยู่ในทวีปยุโรป อเมริกา เอเชียก็พูดกันทั้งนั้น

.

“น้ำจะท่วมจากทะเล เพราะว่าสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลง…เพราะมีสารคาร์บอนขึ้นไปในอากาศมาก จะทำให้เหมือนเป็นตู้กระจกครอบ แล้วโลกนี้ก็จะร้อนขึ้น เมื่อโลกนี้ร้อนขึ้น มีหวังว่าน้ำแข็งจะละลายลงทะเล… เมื่อน้ำพองขึ้นก็จะทำให้ที่ที่ต่ำ เช่น กรุงเทพฯ ถูกน้ำทะเลท่วม… ก็เลยสนใจว่าเรื่องเป็นอย่างไร จึงได้ข้อมูลว่าสิ่งที่ทำให้คาร์บอนในอากาศเพิ่มมากขึ้นนั้น มาจากการเผาเชื้อเพลิงซึ่งอยู่ในดินแดนและจากการเผาไม้”

.

จากนั้น พระองค์จึงตรัสถึงข้อมูลของปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ พร้อมทั้งสถิติด้านป่าไม้ไปจนถึงคุณประโยชน์ของต้นไม้ในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และมหาสมุทรในการกักเก็บก๊าซชนิดนี้ด้วยเช่นกัน และทรงชี้ทางแก้ไขต่อไปคือ “ต้องเผาน้อยลงและต้องปลูกต้นไม้มากขึ้น”

นอกจากนี้ พระองค์ยังตรัสว่า เรื่องโลกร้อนนั้นเป็นปัญหาระดับโลก และประเทศไทยจำเป็นต้องเตรียมรับมือ โดยมีใจความดังนี้

.

“…พูดอย่างนี้ท่านทั้งหลายก็งง วันนี้มีแต่งง เพราะวันนี้ไปถึงสิ่งแวดล้อมขั้นโลก แต่ก่อนเคยพูดถึงขั้นประเทศ เดี๋ยวนี้ถึงขั้นโลก ก็เป็นความรับผิดชอบที่เรามี ความจริงต้องพูดถึงขั้นโลกเพราะประเทศไทยนี้ก็เติบโตขึ้นมา จะมีหน้าตาในโลกว่าเป็นประเทศที่มั่นคง เป็นประเทศที่ดี เราต้องมีความรับผิดชอบในโลกให้มากขึ้น ทั้งนี้เชื่อว่าเป็นความดีของประเทศไทย”

.

เมื่อได้อ่านพระราชดำรัสฉบับเต็มแล้ว ก็ทำให้ทราบว่า พระองค์ทรงศึกษาเรื่องนี้มาอย่างลึกซึ้ง ทรงมีข้อมูลแม่นยำ และทรงพระปรีชาญาณในการคิดแก้ไขปัญหาและทางออกให้กับประเทศไทยไว้ล่วงหน้าเป็นเวลานานแล้ว คือ “ลดการใช้” และ “พึ่งพาพลังงานทดแทน” มากขึ้น พระองค์ทรงออกมาตรัสเตือนพวกเราทุกคนไว้นานก่อนที่รัฐบาลและหน่วยงานต่าง ๆ จะตระหนักรู้อีกหลายสิบปีต่อมา และน่าจะทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์เดียวในยุคนั้นที่ทรงออกมาตรัสถึงภัยของโลกร้อนอย่างครบถ้วนขนาดนี้…

เรื่องภาวะโลกร้อนนั้น ย้อนกลับไป 30 ปี คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่มีใครรู้จัก ในยุคนั้น คำว่า “ภาวะเรือนกระจก” น่าจะใกล้เคียงและคุ้นหูมากกว่า เพราะเป็นคำที่อธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นได้อย่างตรงตัว แต่เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น โลกไม่ได้เผชิญแค่ความร้อนอีกต่อไป ความร้อนระอุราวกับโลกถูกอบในเรือนกระจกตลอดเวลาได้ทำให้ความสมดุลของระบบนิเวศและสภาพอากาศแปรปรวน ลามไปถึงฤดูกาลที่มาผิดกาล และภัยพิบัติธรรมชาติที่รุนแรงและถี่ขึ้นผิดปกติ คำว่า ภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง จึงถูกบัญญัติขึ้น ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ในหลวง ร.9 ทรงมีพระวิสัยทัศน์ที่ยาวไกล ทรงเล็งเห็นแล้วว่าพฤติกรรมการบริโภคและนโยบายด้านพลังงานจะทวีความรุนแรงของปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมในประเทศอย่างแน่นอน จึงทรงเน้นย้ำความสำคัญของการจัดการทรัพยากรน้ำและดินทุกครั้ง

.

พระราชดำรัสในวันนั้น ทรงเน้นย้ำเรื่องนี้และความสำคัญของการจัดการทรัพยากรน้ำเช่นกัน รวมทั้งการพัฒนาอย่างยั่งยืนและพอเพียง เพื่อหลีกเลี่ยงการบริโภคอย่างสุดโต่ง เนื่องจากกิจกรรมของมนุษย์ส่วนใหญ่นั้นถูกขับเคลื่อนด้วยพลังงานในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งสิ้น

ยังจำกันได้หรือไม่… กับความตั้งใจที่จะเดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาท ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้มีความพอเพียงเพื่อยังเจตนารมณ์ของพ่อหลวง …ยังจำกันได้หรือไม่

.

ในวาระปีใหม่ที่กำลังจะมาถึงนี้ เราจะเริ่มต้นทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยพยุงดาวเคราะห์สีน้ำเงินที่เปรียบเสมือน “บ้าน” ให้คงอยู่ต่อไปนาน ๆ เบียดเบียนสิ่งมีชีวิตร่วมโลกให้น้อยที่สุด ลด ละ เลิกการบริโภคที่ไม่จำเป็น ใช้ชีวิตอยู่บนความพอเพียง ถ้าทุกคนลงมือทำอย่างจริงจัง พลังเล็ก ๆ ก็จะหลอมรวมกันเป็นพลังขับเคลื่อนที่ยิ่งใหญ่ ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง และจะเป็นของขวัญถวายแด่คนบนฟ้าในวาระวันพ่อที่จะทำให้ท่านทรงแย้มพระสรวลอย่างแน่นอน…

บทความโดย คุณเอื้อมดาว น้อยกร