ในยามปกติ ช่วงเวลานี้ของทุก ๆ ปี คือเวลาที่คนไทยต่างต้องหน้านิ่วคิ้วขมวด เป็นเพราะอานุภาพของฤดูร้อนที่นำพาอุณหภูมิอันแสนร้อนระอุมาเยือนประเทศ ซึ่งนับวันยิ่งรุนแรงขึ้นทุกที จนหลายคนถึงกับไม่ยอมออกมารับประทานอาหารกลางวันข้างนอกกันเลยทีเดียว  แต่ปีนี้คนไทยต่างเฝ้ารอฤดูร้อนอย่างใจจดใจจ่อ เนื่องด้วยการระบาดของไวรัสโควิด-19  เมื่อกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศว่า ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการเมื่อต้นเดือน เราต่างยิ้มหน้าบาน ด้วยนักวิชาการต่างยืนยันก่อนหน้าว่า ความร้อนระดับพระกาฬนี้สามารถสกัดการระบาดของไวรัสได้ชงัดนัก…

แต่เหรียญย่อมมี 2 ด้านเสมอ และไม่ได้เปลี่ยนแปลงความจริงที่ว่า อุณหภูมิที่ร้อนแทบไหม้นั้นเป็นผลพวงจากภาวะโลกร้อน  ระดับความร้อนที่เข้าขั้นวิกฤติ  หน้าแล้งจึงทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น อันสัมพันธ์โดยตรงกับความรุนแรงของไฟป่าในประเทศเช่นกัน ที่เกิดง่ายขึ้นและควบคุมยากกว่าเดิม ดังที่เห็นจากเหตุไฟป่าที่เกิดในจังหวัดเลย และล่าสุดที่ดอยอินทนนท์  จังหวัดเชียงใหม่

ก่อนอื่นต้องขออธิบายว่า ไฟป่าเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ แต่เกือบ 90% ทั่วโลกเกิดจากน้ำมือมนุษย์ จากการเผาพื้นที่เพื่อเตรียมหน้าดิน กำจัดวัชพืช การล่าสัตว์ การทำไร่เลื่อนลอย และความเผอเรอ  ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของไฟป่านั้นกินวงกว้าง  ที่เห็นได้ชัดที่สุด และพวกเราต่างเจอทุกปีคือ หมอกควันมลพิษที่ปกคลุมพื้นที่โดยรอบ  บ่อยครั้งที่ไฟป่ากินพื้นที่ขนาดใหญ่ มันก็จะลอยมาทักทายประเทศเพื่อนบ้านได้อีกด้วย เหตุเพราะกระแสลมที่พัดเชื่อมกันทั่วทั้งโลก เช่นเดียวกับกระแสน้ำ เช่น กรณีเหตุไฟป่าบนเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ที่พ่นพิษมาถึงสิงคโปร์ มาเลเซีย และภาคใต้ของไทย

ถ้าเป็นเมื่อก่อนที่โลกยังไม่ประสบมลพิษทางอากาศขนาดนี้ ฝุ่นควันจากการเผาไหม้จะถูกชะล้างไปด้วยฝน แต่เมื่อโลกร้อนมากขึ้น ในขณะที่การเผาป่ายังคงอยู่ รวมกับการเผาไหม้จากรถยนต์ อุตสาหกรรม และครัวเรือน  มลพิษทางอากาศจึงเพิ่มขึ้นเกินกว่าระบบของโลกจะจัดการให้สมดุลได้ทัน  เราจึงได้ขึ้นเป็นข่าวใหญ่ ดังทั่วโลกอีกครั้ง เมื่อเชียงใหม่ได้รับตำแหน่งเมืองที่มีมลพิษทางอากาศสูงที่สุดในโลกติด ๆ กัน จากข้อมูลแอปพลิเคชัน AirVisual ซึ่งรวบรวมข้อมูลสภาพอากาศจากทั่วโลก และรายงานให้เห็นแบบเรียลไทม์กันเลย

ผลกระทบของไฟป่ายังมีมากกว่าที่เรารับรู้  มันส่งผลกระทบโดยตรงต่อสภาพแวดล้อมของโลก  นักวิทยาศาสตร์พบว่า ไฟป่าทำให้อุณหภูมิสะสมของโลกสูงขึ้น เกิดเป็นวงจรอุบาทว์ เมื่อโลกร้อนขึ้น 1 องศา ป่าไม้จะต้องการฝนมากขึ้นประมาณ 15% เพื่อชดเชยความชุ่มชื้นที่เสียไป  ในส่วนของมนุษย์และสัตว์ป่า เมื่อความถี่ของไฟป่าเพิ่มขึ้น ฝุ่นและอนุภาคในอากาศก็หนาแน่นจนกลายเป็นมลพิษถาวร ส่งผลให้อัตราการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจมากขึ้น  สัตว์ป่านอกจากสูญเสียชีวิตแล้ว ยังสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยในระยะยาวด้วย

แม้จะฟังดูน่าเป็นห่วง แต่ปรากฏการณ์ไฟป่าที่ถี่และรุนแรงขึ้นทุกปี อันเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกนั้น เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการหายไปของผืนป่า อันเป็นสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญสิ่งแวดล้อมต่างกังวลมากที่สุด เพราะเมื่อโลกร้อนขึ้นเรื่อย ๆ ระยะเวลาที่ธรรมชาติต้องการในการฟื้นฟูจะนานขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน  จนในที่สุดระบบนิเวศในพื้นที่ป่านั้น ๆ จะเสียหายจนกลายเป็นป่าเสื่อมโทรม  ในบางประเทศ พื้นที่ป่าดิบชื้นกำลังกลายเป็นทะเลทรายอย่างช้า ๆ แล้วในขณะนี้

งานป้องกันไฟป่าในเวลานี้จึงสำคัญอย่างยิ่งยวด แม้จะเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ  วิธีที่ดีที่สุดคือการคงความชุ่มชื้นในพื้นที่ให้มากที่สุด คือการหันมาใช้ชีวิตอย่างรู้จักพอ  บริโภคและใช้สอยทรัพยากรโลกอย่างประหยัด โดยเฉพาะการใช้ไฟฟ้าและน้ำ เพราะทรัพยากรทั้งสองสิ่งนี้ เป็นผลพวงจากป่าอย่างแท้จริง

ทุกวันนี้ ประเทศไทยผลิตไฟฟ้าและใช้น้ำจากเขื่อน แต่หากฝนไม่ตก เขื่อนจะกลายเป็นสิ่งก่อสร้างคอนกรีตที่แห้งผากอันไร้ประโยชน์  ผืนป่าคือสิ่งที่นำความชุ่มชื้น  ปราศจากป่าเสียแล้ว ก็ปราศจากน้ำเช่นกัน…

อย่างไรก็ดี ยังไม่สายเกินแก้ แม้ว่าปีนี้กรมอุตุฯ จะประกาศว่า ประเทศไทยจะเผชิญภัยแล้งไปจนถึงช่วงกลางปี  แต่ถ้าเราต่างหันมาประหยัดการใช้น้ำและไฟฟ้าอย่างจริงจังและทำให้เป็นนิสัย  เราก็จะเป็นผู้มีส่วนในการแก้ปัญหาโลกร่วมกัน จนเกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมได้ แทนที่จะรับแต่บท “ผู้ก่อปัญหา”

หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในวันที่ 28 มีนาคมที่จะถึงนี้ เป็นวันที่แคมเปญ Earth Hour เกิดขึ้นอีกครั้ง ในวันนั้น คนนับล้านทั่วโลกจะต่างร่วมกันปิดไฟตอน 20.30 น. ตามเวลาท้องถิ่นของตนเป็นเวลา 1 ชั่วโมง เพื่อรณรงค์ให้มนุษย์ตระหนักถึงผลกระทบของภาวะโลกร้อนที่มีต่อระบบโลก ผลการศึกษาของ Energy Research and Social Science ในปี 2014 กับ 10 ประเทศที่ร่วมแคมเปญปิดไฟเป็นระยะเวลา 6 ปี พบว่า ในช่วงนั้น แต่ละประเทศประหยัดพลังงานลงได้ถึง 4% จากปริมาณการใช้ปกติ ซึ่งถือว่าไม่เลวเลยทีเดียว เนื่องจากเวลานั้นคือช่วงเวลาที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง

ลองคิดกันดูนะคะว่า ถ้าเราสร้างนิสัยใหม่ เปลี่ยนแคมเปญ 1 ชม. นี้ให้เป็นการบริโภคทรัพยากรอย่างตระหนักในคุณค่าตลอดชีวิต โลกนี้จะเย็นลงและน่าอยู่ขึ้นเพียงใด?

บมความโดย เอื้อมดาว น้อยกร