ในโลกยุคปัจจุบันเราอาจส่งและรับอีเมลหลายสิบฉบับต่อวัน ส่งและรับข้อความไปมาผ่านไลน์แชทกับผู้คนมากมายนับไม่ถ้วน อัปโหลดภาพขึ้นคลาวด์หรือเฟสบุ๊คอย่างสนุกสนาน ดูวิดีโอคลิปที่อยู่ในกระแสสังคมจากยูทูบเพราะจะต้องทันต่อเหตุการณ์ และดูภาพยนตร์ซีรีย์หรือไลฟ์การแสดงสดของศิลปินคนโปรดที่เปิดตัวอัลบั้มใหม่ผ่านสตรีมมิงวิดีโอ (Streaming Video) เหล่านี้ถือเป็นตัวอย่างกิจกรรมของผู้คนในโลกยุคดิจิทัล ซึ่งในแง่ปัจเจกบุคคลแล้ว เราอาจคิดว่า “มันก็เป็นเพียงแค่การอัปโหลดไม่กี่ภาพ” หรือ “ก็แค่ดูวิดีโอคลิปเพียงไม่กี่นาทีเพื่อความบันเทิงเท่านั้นเอง”

“แต่หากเราถอยกลับมามองในภาพใหญ่ทั้งระบบ ปริมาณข้อมูลดิจิทัลที่ไหลผ่านอินเทอร์เน็ต อันเกิดจากกิจกรรมดังกล่าวของมนุษย์ยุคปัจจุบัน กลับส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อโลก นั่นคือ การซ้ำเติมภาวะโลกร้อนให้ยิ่งแย่ลงไปอีก…”

หลายท่านอาจไม่เชื่อข้อมูลล่าสุดที่ว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็น 4% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด แซงหน้าธุรกิจการบินที่ปล่อยก๊าซประมาณ 2.5% ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยความต้องการใช้พลังงานในเทคโนโลยีดิจิทัลคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอัตรา 9% ต่อปี และเมื่อเจาะลึกลงไปถึงสัดส่วนการใช้พลังงานไฟฟ้าในอุตสาหกรรมไอที จะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมนี้ใช้พลังงานสูงกว่าอุตสาหกรรมการผลิตกว่า 10% เลยทีเดียว!

อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือ สมาร์ตโฟน รวมทั้งระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โทรคมนาคม และดาต้าเซ็นเตอร์ที่อยู่เบื้องหลังการจัดการดาต้า ล้วนแต่ต้องอาศัยกระแสไฟฟ้าเพื่อการทำงานทั้งนั้น และแหล่งพลังงานที่ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าส่วนใหญ่ก็ยังคงเป็นพลังงานจากซากฟอสซิล ซึ่งเป็นต้นตอสำคัญในการเพิ่มปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ อันเป็นก๊าซเรือนกระจกชนิดหนึ่งที่กักเก็บความร้อนในชั้นบรรยากาศโลก ความสิ้นเปลืองพลังงานอันมหาศาลเหล่านี้เป็นต้นทุนที่ถูกกลบซ่อนไว้ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลอันน่าตื่นเต้น เร็วแรงและเร้าใจ จนแทบไม่มีใครจะนึกถึงโทษภัยของมันเลย…

ผู้เชี่ยวชาญในวงการไอทีคาดการณ์ว่า ภายในปี ค.ศ. 2020 ดิจิทัลดาต้าจะมีขนาดใหญ่มากถึง 40-50 Zettabytes และประมาณ 80% จะเป็นข้อมูลประเภทที่ไม่มีโครงสร้าง (Unstructured data) อาทิ ภาพ เสียง วิดีโอคลิป หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ภายในปี ค.ศ. 2020 ขนาดของดิจิทัลดาต้าจะมีจำนวนไบต์คิดเป็น 40 เท่าของปัจจุบัน หรือมากกว่าจำนวนดวงดาวที่สังเกตเห็นได้ในจักรวาลเสียอีก!

บทความนี้จึงขอโฟกัสไปที่การรับชมสตรีมมิงวิดีโอ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีดิจิทัลและเป็นดิจิทัลดาต้าที่มีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับดิจิทัลดาต้ารูปแบบอื่น ๆ เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ตระหนักและรับรู้ถึงผลกระทบของการรับชมสตรีมมิ่งวิดีโอต่อภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นประเด็นที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงกันครับ!

หากท่านผู้อ่านยังจำได้ ในอดีต ภาพยนตร์จะเล่าเรื่องราวด้วยภาพเคลื่อนไหวและเสียงผ่านฟิล์ม ซึ่งภาพไม่ได้มีความคมชัดมากและเสียงก็ยังไม่ค่อยเร้าใจนัก แต่ปัจจุบัน ภาพยนตร์มีความละเอียดและคมชัดขึ้นมาก มีความหลากหลายให้เลือกสรรตามแต่ความชอบมากขึ้น โดยเฉพาะหากรับชมผ่านสตรีมมิงวิดีโอ ซึ่งมีพลังในการดึงดูดความสนใจของเราเป็นอย่างมาก (เช่น การถูกดึงดูดให้นั่งดูซีรีย์ 1 ซีซันที่ประกอบไปด้วย 10 ตอนให้จบภายในหนึ่งวัน) และทำให้เกิดพฤติกรรม “เสพติด”ได้อย่างหนึ่ง ซึ่งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่รู้ความต้องการของมนุษย์ในประเด็นนี้เป็นอย่างดี…

บริษัทไอทียักษ์ใหญ่ Cisco คาดการณ์ไว้ว่า ภายในปี ค.ศ. 2020 ประชากรโลกประมาณ 60% จะใช้งานออนไลน์อินเทอร์เน็ต โดยที่การใช้งานวิดีโอบนอินเทอร์เน็ตมีมากถึง 80% ของปริมาณการเคลื่อนย้ายดิจิทัลดาต้า (Digital Data Traffic) ทั้งหมด และล่าสุด เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา The Shift Project ซึ่งเป็นหน่วยงาน NGO ระดับนักคิดนักวิจัยของฝรั่งเศส เพื่อจำกัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และลดการพึ่งพาพลังงานซากฟอสซิลในระบบเศรษฐกิจ ได้ออกรายงานผลจากกรณีศึกษาของการใช้งานวิดีโอออนไลน์ มีประเด็นที่น่าสนใจพอสรุปได้ดังนี้

• ในสัดส่วนที่มากถึง 80% ของดิจิทัลดาต้า คือวิดีโอตามที่ได้กล่าวข้างต้น คิดเป็นวิดีโอออนไลน์ถึง 60% (อีก 20% เป็นวิดีโออื่น ๆ) และถูกเก็บไว้ในเซิร์ฟเวอร์ของดาต้าเซ็นเตอร์ โดยเรียกมาดูทางไกลผ่านเว็บไซต์ผู้ให้บริการสตรีมมิงวิดีโอ

• วิดีโอโดยตัวของมันเองเป็นสื่อข้อมูลที่มีความหนาแน่นมาก วิดีโอที่มีคุณภาพสูงยาว 10 ชั่วโมง ประกอบไปด้วยดาต้าที่มากกว่าบทความภาษาอังกฤษทั้งหมดของ Wikipedia ในรูปแบบ Text Format! ดังนั้น วิดีโอที่มีความละเอียดสูงจะมีความหนาแน่นของข้อมูลมาก และต้องอาศัยพลังงานมากในการเคลื่อนย้ายจากต้นทางไปยังปลายทางตามไปด้วย

• ในปี ค.ศ. 2018 การชมวิดีโอออนไลน์ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า 300 ล้านตัน ซึ่งพอ ๆ กับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสเปนทั้งประเทศ (หรือคิดเป็น 20% ของการปล่อยในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลทั้งหมด)

• บริการ VoD (Video on Demand) ซึ่งคิดเป็น 34% ของวิดีโอออนไลน์ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 100 ล้านตันต่อปี เป็นปริมาณที่ใกล้เคียงกับการปล่อยก๊าซของชิลีทั้งประเทศ

• วิดีโอลามก (Pornographic Video) ซึ่งคิดเป็น 27% ของวิดีโอออนไลน์ทั้งหมด ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 80 ล้านตัน พอ ๆ กับการปล่อยก๊าซของภาคครัวเรือนทั้งหมดของฝรั่งเศส

จากกราฟสีส้ม วีดีโอออนไลน์ทั้งหมดมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงสุด

มาถึงตรงนี้ หลายท่านคงเกิดความคิดในใจว่า เมื่อความต้องการใช้งานวิดีโอออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการเติบโตของธุรกิจสตรีมมิงวิดีโอ ในขณะที่โลกมีทรัพยากรจำกัดและกำลังเผชิญวิกฤตสภาพอากาศที่เป็นเสมือนระเบิดเวลา การแก้ไขปัญหาด้วยการใช้พลังงานทางเลือก (Renewable energy) ทดแทนพลังงานจากซากฟอสซิลดูน่าจะเป็นทางออกที่ดี นั่นคือ ทุกประเทศจะต้องรีบเร่งเปลี่ยนแปลงมาใช้พลังงานทดแทนไปพร้อม ๆ กัน แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ดูจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเกิดขึ้นได้ในช่วงเวลาอันสั้น เมื่อเทียบกับสถานการณ์ภาวะโลกร้อนที่เข้าขั้นวิกฤต ดังนั้น ดูเหมือนว่า ทางเลือกที่เหลืออยู่คือ ความพยายามในการลดใช้งานสตรีมมิงวิดีโอ ซึ่งเกิดคำถามตามมาว่า เราอาจจำเป็นต้องลดละการใช้งานสตรีมมิงวิดีโอเพื่อช่วยเยียวยาวิกฤตโลกร้อนหรือไม่?

นี่ไม่ใช่คำถามเพื่อการต่อต้านสตรีมมิ่งวิดีโอ ซึ่งส่วนหนึ่งมีสาระที่เป็นประโยชน์ อาทิ สารคดี การศึกษาทางไกล และนี่ไม่ใช่คำถามเพื่อรณรงค์ให้ “เลิกใช้” สตรีมมิงวิดีโอทั้งหมด แต่ประเด็นหลักอยู่ที่ว่า เราให้ความสำคัญแค่ไหนกับการใช้ทรัพยากรโลกที่มีอยู่จำกัด ซึ่งถูกนำมาใช้งานกับสิ่งที่มีความจำเป็นน้อยในชีวิตเราอย่างเกินตัว เราจะเลือกอยู่เฉย ๆ ไม่รับผิดชอบอะไร แล้วปล่อยให้โลกผุพังลงไปต่อหน้า ทั้ง ๆ ที่รู้ว่ากิจกรรมของเราเป็นพิษต่อโลกอย่างนั้นหรือ?

อย่าลืมว่าอนาคตของโลกอยู่ในมือของพวกเราทุกคนครับ!

บทความโดย พีรพงษ์ เจียรณัย

(คุณ พีรพงษ์ เจียรณัย เป็นนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ และอดีตผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีเชิงธุรกิจและการวางระบบข้อมูลสำหรับผู้บริหารของบริษัทน้ำมันข้ามชาติมากว่า 20 ปี มีความสนใจด้าน MI, BI, บิ๊กดาต้า วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม และปรัชญา)

แหล่งที่มา:

[1] Eric Bassier,”Global Warming of Data”, DataCenterKnowledge, 18 May 2016. [Online].Available: https://www.datacenterknowledge.com/…/18/global-warming-data

[2] Learn Center, “Data Never Sleeps 7.0”. DOMO. 2019. [Online].Available: https://www.domo.com/learn/data-never-sleeps-7

[4] Maxime Efoui-Hess, “CLIMATE CRISIS: THE UNSUSTAINABLE USE OF ONELINE VIDEO”, The Shift Project, 11 July 2019. [Online].Available: https://theshiftproject.org/…/unsustainable-use-online-vid…/

[4] Jeannette Cwienk (cmk),” Is Netflix bad for the environment? How streaming video contributes to climate change”, DW, 11 July 2019. [Online].Available: https://www.dw.com/…/is-netflix-bad-for-the-envi…/a-49556716