“ฉันอยากให้คุณทำราวกับว่าบ้านกำลังถูกไฟไหม้ เพราะมันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ” ~ เกรตา ธันเบิร์ก

นี่คือเสียงจากเด็กสาววัย 17 ปีที่ร้องขอให้เราใส่ใจกับวิกฤตโลกร้อนมากกว่านี้ เพราะชีวิตของเธอเพิ่งจะเริ่มต้น แต่กลับไม่เหลืออากาศบริสุทธิ์ในโลกให้เธอได้หายใจมากนัก ขณะที่ประชากรส่วนใหญ่กำลังถูกปิดหูปิดตา ใช้ชีวิตประจำวันกันตามปกติ รื่นเริงกับสิ่งบันเทิงที่อยู่ตรงหน้า โดยไม่ได้เอะใจเลยสักนิดว่า ชีวิตกำลังอยู่บนปากเหว โดยหากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยอีกเพียง 1.5 องศาเซลเซียส เราจะไม่มีวันกลับไปใช้ชีวิตในแบบปัจจุบันได้อีกต่อไป…

ต่อไปนี้คือ 5 สัญญาณที่จะช่วยปลุกคุณให้ตื่นรู้ ตื่นจากความเพลิดเพลิน และหันมาร่วมกันจัดการปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจังครับ

1. วิกฤตโควิด-19 ไม่ได้ทำให้วิกฤตโลกร้อนคลี่คลายลง และซ้ำร้าย กลับสร้างปัญหาใหม่เพิ่มขึ้นอีก การที่เราเห็นสภาพแวดล้อมเริ่มกลับมาสมบูรณ์อีกครั้งในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ได้หมายความว่า สถานการณ์โลกร้อนจะคลี่คลายลงแล้ว เพราะมันกลับตามมาด้วยวิกฤตขยะพลาสติก ขยะของเสียทางการแพทย์ รวมถึงในช่วงการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤตผ่านพ้นไป แต่ละประเทศจะมีการกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนอย่างหนักหน่วง ซึ่งถ้าเป็นการลงทุนอย่างยั่งยืนควบคู่กับการรักษ์สิ่งแวดล้อมก็แล้วไป แต่วิธีการที่ประเทศต่าง ๆ ในโลกส่วนใหญ่จะเลือกใช้คือการเพิ่มกำลังการผลิตที่อาศัยเทคโนโลยีเก่าที่มักไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การอัดฉีดแคมเปญการท่องเที่ยวที่อาจไม่ได้ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์มากนัก ซึ่งล้วนจะทำให้กราฟของคาร์บอนฟุตพรินต์ดีดตัวสูงขึ้นกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 เสียอีก สะท้อนจากกราฟด้านล่างที่แสดงให้เห็นว่า วิกฤตการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ไม่ว่าจะเป็นสงครามโลก วิกฤตเศรษฐกิจ หรือโรคระบาดก็ตาม ปริมาณก๊าซเรือนกระจกจะชะลอตัวเป็นระยะเวลาเพียงแค่ช่วงสั้น ๆ เท่านั้น และยิ่งไปกว่านั้น ที่น่าเศร้าคือ หากแม้วันนี้ทุกคนบนโลกพร้อมใจกันลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีนัยสำคัญ คาร์บอนเดิมที่สะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศก็จะยังคงมีผลให้อุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อย ๆ อีกกว่าหลายสิบปี จนกว่าระบบนิเวศจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ (ภาพจาก BBC)

2. แนวโน้มการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในศตวรรษที่ 21 ยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง จะเห็นได้ว่า หากเรายังคงใช้ชีวิตตามปกติโดยไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอะไรเลย อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกจะทะยานขึ้นไปถึง 4.1-4.8 องศาเซลเซียสในปี ค.ศ. 2100 ซึ่งแม้ว่าเราอาจจะไม่ได้มีชีวิตอยู่เพื่อรับรู้ว่ามันจะร้อนกว่านี้แค่ไหน แต่น้องเกรตาและลูกหลานตัวน้อย ๆ ในบ้านเราจะได้พบกับมันแน่นอน และแม้ว่าทั่วโลกจะปฏิบัติตามข้อตกลงปารีส อุณหภูมิก็จะยังคงสูงขึ้นไปอีกอย่างน้อย 2.8-3.6 องศาเซลเซียส ซึ่งก็ยังห่างจากตัวเลขที่ตั้งเป้าไว้ คือ 1.5 องศาอยู่มากนัก นอกจากนี้ ยังเป็นที่ทราบกันแล้วว่าประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา ได้ตัดสินใจถอนตัวไปจากข้อตกลงปารีสแล้วเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2017 ทำให้ความหวังที่จะเห็นตัวเลข 1.5 องศาดังกล่าวนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย (ภาพจาก BBC)

3. จำนวนผู้เสียชีวิตจากอากาศวิปริตเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง จากการศึกษาในปี 2018 ประเมินว่า ในปี ค.ศ. 2100 ประชากรในแถบเส้นศูนย์สูตรจะมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นจากอากาศร้อนจัด โดยเฉพาะประเทศในแถบตะวันออกกลางและแอฟริกา ซึ่งปัจจุบันอากาศก็ร้อนจัดอยู่แล้ว (ถึงแม้ว่าประเทศในเขตอากาศหนาวจะมีอัตราการเสียชีวิตลดลงบ้าง เนื่องจากอากาศที่กลับกลายเป็นไม่หนาวอีกต่อไป) ความเปลี่ยนแปลงนี้ยังส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมสูงขึ้น เพราะคนรวยจะหนีไปอยู่ในเขตอากาศหนาว ขณะที่คนจนก็ต้องหาทางเอาตัวรอดกับความร้อนเอาเอง (ข้อมูลจาก Brookings)

4. อัตราส่วนการใช้พลังงานดิจิทัลที่ก้าวกระโดด และนำมาซึ่งการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมหาศาล อย่างที่เราทราบกันดีอยู่แล้วว่า เทคโนโลยีในปัจจุบันพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด จากอินเทอร์เน็ตยุคโมเด็ม 56K จนปัจจุบันเข้าสู่ยุค 5G อย่างเต็มตัว ทำให้อินเทอร์เน็ตได้แทรกซึมเข้าไปอยู่ในสิ่งของเครื่องใช้แทบจะทุกประเภท (Internet of Things : IoT) ทำให้ทั้งดาต้าเซิร์ฟเวอร์และแบนด์วิดท์ก็ต้องขยายตัวเพื่อรองรับเป็นเงาตามตัว โดยเฉพาะดาต้าเซ็นเตอร์ โดยอัตราส่วนการใช้พลังงานจากกิจกรรมดิจิทัลเพิ่มขึ้นจาก 2.5% ในปี 2013 เป็น 4% ในปี 2020 และคาดการณ์กันว่าจะขยายตัวเป็น 8% ในปี 2025 (ข้อมูลจาก The Shift Project 2018 )

5. ความล้มเหลวในการลดคาร์บอนฟุตพรินต์ในสายการผลิต ปัจจุบันยังไม่มีผู้ผลิตอุปกรณ์ไอทีรายใดที่จัดการเรื่องคาร์บอนฟุตพรินต์ได้ดี แม้ว่าจะเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ เช่น แอปเปิ้ล ซัมซุง หรือไมโครซอฟต์ก็ตาม การผลิตถือเป็นกระบวนการที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากถึง 80% ของวงจรชีวิตอุปกรณ์หนึ่งชิ้น โดยเฉพาะผู้ผลิตที่มาจากจีน ซึ่งเน้นผลิตสินค้าราคาถูก จนเพิกเฉยต่อการใช้พลังงานสะอาด ยิ่งไปกว่านั้น ชิ้นส่วนอุปกรณ์เกือบทั้งหมดมีขนาดเล็กเกินไปจนไม่สามารถนำมารีไซเคิลได้ และดูเหมือนว่าเหล่าผู้บริหารจะให้ความสำคัญกับการแสดงนวัตกรรมใหม่ ๆ ทุกปีมากกว่าการปรับปรุงให้การผลิตมีความรักษ์สิ่งแวดล้อมและยั่งยืน (ข้อมูลจาก Greenpeace)

โดยสรุป แม้ว่าองค์กรสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย รวมถึง KBO Earth เอง จะพยายามส่งสัญญาณเตือนให้คนบนโลกตระหนักรู้และตื่นตัวในวิกฤตโลกร้อนมาอย่างต่อเนื่อง แต่มนุษย์มักเป็นผู้ประมาทอยู่เสมอ

ดูตัวอย่างง่าย ๆ ในระดับรัฐบาล หลายประเทศให้ความสำคัญน้อยมากในการจัดสรรงบประมาณป้องกันภัยร้ายที่ยังไม่เกิดขึ้น โดยเฉพาะประเด็นโลกร้อนที่มักถูกจัดลำดับความสำคัญอยู่ท้ายสุด ตัวอย่างเช่น สหรัฐฯ ที่ประมาณการว่าจะใช้เวลามากกว่า 15 ปี เพื่อจัดสรรงบประมาณ 5.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในการปฏิรูปประเทศให้ใช้พลังงานสะอาด เทียบกับในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา ซึ่งกลับกลายเป็นว่า สหรัฐฯ จัดสรรงบประมาณในการต่อสู้กับโควิด-19 ไปแล้วกว่า 6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อกู้ภัยเศรษฐกิจตรงหน้า (และนี่ยังไม่รวมถึงเม็ดเงินที่จะต้องอัดฉีดเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในภายหลัง) ท่านผู้อ่านลองคิดดูสิครับว่า หากภัยโลกร้อนที่จะเกิดขึ้นในรูปของภัยพิบัติมาถึงจริง ซึ่งจะยิ่งรุนแรงกว่าผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 รัฐบาลจะต้องสูญเสียงบประมาณอีกมากมายเพียงใด… แล้วมันจะไม่ดีกว่าหรือหากจะรู้จัก “กันไว้ดีกว่าแก้” ครับ?

ในระดับปัจเจกชน วิกฤตโควิด-19 พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ทำให้เราใช้ชีวิตอย่างยากลำบากมากเพียงใด โดยเฉพาะเมื่ออากาศที่เราหายใจไม่ปลอดภัยอีกต่อไป ทำให้เราต้องใส่อุปกรณ์ป้องกันตลอดเวลา แล้วท่านผู้อ่านลองคิดดูสิครับว่า หากอุณหภูมิโลกสูงขึ้นจนเราไม่สามารถจะอยู่หรือทำกิจกรรมกลางแจ้งกันได้อีก เราจะใช้ชีวิตกันยากลำบากกว่าวิกฤตโควิด-19 ขนาดไหน เราจะอยู่อย่างไร? เราจะอยู่รอดูเหตุการณ์นี้เพราะต้องการเห็นโลงศพจึงหลั่งน้ำตา หรือจะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างแบบที่น้องเกรตาทำก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของท่านแล้วครับ!

บทความโดย รชต ว่องการวาณิชย์