หากท่านผู้อ่านได้ติดตามบทความของ เคบีโอ เอิร์ธ มาโดยตลอด จะรู้ชัดว่า สถานการณ์วิกฤตโลกร้อนในปัจจุบันรุนแรงและอยู่ในจุดที่สุ่มเสี่ยงมากขนาดไหน ถึงเวลาแล้วหรือยังครับที่เราควรจะต้องกลับมาพิจารณากันเสียทีว่า เราจะทำอะไรให้กับโลกใบนี้ได้อีกบ้าง? นอกเหนือจากการคัดแยกขยะหรือปลูกต้นไม้ หากยังนึกไม่ออก ผมขอแนะนำให้เริ่มต้นจาก 7 วิธีที่ทำได้ง่าย ๆ ต่อไปนี้ เพียงแค่ปรับองศาการใช้ชีวิตประจำวันของเราเล็กน้อยก็เท่ากับได้ช่วยโลกใบนี้แล้วครับ

1. เลือกใช้อินเทอร์เน็ตผ่าน LAN หรือ WIFI เมื่อมีโอกาส เนื่องจากปริมาณข้อมูลที่ส่งผ่าน WIFI นั้นใช้พลังงานน้อยกว่าการส่งผ่านเสาสัญญาณโทรศัพท์ถึงครึ่งหนึ่ง แถมคุณภาพข้อมูลยังมีความเสถียรกว่าด้วย แต่บางครั้งเราก็ลืมสลับสัญญาณเมื่อถึงบ้านหรือที่ทำงาน และยังคงใช้เน็ตมือถือต่อไปทั้งที่ไม่จำเป็น แถมค่ายมือถือต่างก็จัดโปรโมชั่น Unlimited กันมาให้ใช้อย่างจุใจเสียจนหลายท่านตัดสินใจยกเลิกเน็ตบ้านแล้วเสียด้วยซ้ำ!

2. ปิดอุปกรณ์มือถือในเวลาที่ไม่ใช้งาน หลาย ๆ ท่านเลือกที่จะเปิดมือถือไว้ตลอดแม้แต่ยามนอน ซึ่งนอกจากจะทำให้การนอนหลับไม่มีประสิทธิภาพ เพราะสมองถูกรบกวนจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าอยู่ตลอดเวลาแล้ว มือถือของท่านก็ได้รับการกระตุ้นสัญญาณไฟฟ้าอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน แม้ว่าปัจจุบันมือถือจะตัดสัญญาณไฟอัตโนมัติเมื่อแบตเตอรี่เต็ม แต่ความร้อนสะสมก็ทำให้แบตเสื่อมได้ง่าย ต้องเปลี่ยนบ่อยขึ้น และเป็นการเพิ่มปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นตามลำดับ

3. ลบแอปพลิเคชันที่ไม่ได้ใช้งานออกไปบ้าง โดยเฉพาะแอปพลิเคชันฟรีที่เรามักจะโหลดเก็บไว้ตอนช่วงมีโปรโมชั่น ช่วงลดราคา หรือได้ยินรีวิวว่าดี โดยเผื่อว่าจะมีโอกาสได้ใช้สักวัน ทั้งที่คำว่า “สักวัน” ไม่เคยมาถึง การใช้งานแอปพลิเคชันเหล่านั้นไม่ได้ใช้พลังงานมากมายไม่ว่าจะเป็นออฟไลน์หรือออนไลน์ แต่ส่วนที่มีนัยสำคัญคือ “การอัพเดตต่าง ๆ” ที่เราต้องคอยดาวน์โหลดอยู่สม่ำเสมอต่างหาก บางแอปพลิเคชันก็มีการอัพเดตให้ดาวน์โหลดแทบทุกวัน โดยที่บางครั้งก็ไม่ได้มีสาระสำคัญอะไรนอกจากกระตุ้นให้เรานึกถึงและเปิดใช้แอปฯ นั้น เพราะการเปิดแอปฯ คือการสร้างรายได้

4. ลดการตอบแชทที่ไม่จำเป็น การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพและประหยัดพลังงานที่สุดคือ การใช้ฟังก์ชันพื้นฐานของโทรศัพท์เพื่อโทรคุยกัน แต่ในการสื่อสารกับผู้คนจำนวนมากที่ยังต้องใช้อีเมล ก็ควรจะกำหนดกลุ่มผู้รับเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เพื่อลดปริมาณอีเมลที่จะกระจายไปยังผู้รับ อีกทั้งไม่สร้างความรำคาญให้กับผู้รับที่ไม่เกี่ยวข้อง ดังนั้น ไม่ควร Reply-all หากไม่จำเป็น ส่วนแอปพลิเคชันแช็ตเช่น WhatsApp หรือ LINE ซึ่งมักเต็มไปด้วยบทสนทนาที่ไม่ได้มีใจความสำคัญอื่นใดไปกว่า “ขอบคุณครับ” “รับทราบค่ะ” “โอเค” “555” ทั้งนี้ บริษัทพลังงานในสหราชอาณาจักรที่มีชื่อ OVO ได้ริเริ่มแคมเปญ “Think Before You Thank” เพื่อรณรงค์ให้คนอังกฤษลดการส่งอีเมลขอบคุณ โดยหากทุกคนส่งอีเมลลงแค่คนละฉบับต่อวัน จะทำให้ลดปริมาณคาร์บอน ได้ถึงปีละ 16,433 ตันเลยทีเดียว

5. ยกเลิกรับอีเมลที่ไม่ต้องการ ในแต่ละปี เราได้รับอีเมลที่ไม่เคยเปิดอ่านโดยเฉลี่ยถึง 2,850 ฉบับ เหล่านี้เกิดจากการสมัครบริการ ซื้อสินค้าทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งจะพ่วง (กึ่งยัดเยียด) บริการจัดส่งข่าวสารเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในภายหลัง ส่วนใหญ่เรามักจะกดลบโดยอัตโนมัติ แม้เห็นเพียงชื่อผู้ส่ง จะดีกว่าไหมหากเราใช้เวลาเพิ่มอีกสักนิด เลือกที่จะกดปุ่ม “ยกเลิกรับข่าวสาร” หรือ “Unsubscribe” เพื่อจะได้ไม่ต้องหงุดหงิดรำคาญใจกับอีเมลขยะเหล่านี้อีกต่อไป ไม่ต้องเสียเวลามาลบอีเมลทุกวัน ประหยัดพื้นที่ในกล่องจดหมาย ประหยัดการใช้อินเทอร์เน็ต แถมยังช่วยลดปริมาณคาร์บอน ได้ถึง 28.5 กิโลกรัมต่อหนึ่งคน

6. ใช้ Search Engine ทางเลือกให้มากขึ้น เรามักจะเคยชินกับการใช้ Google แม้ว่าจะถูกนำข้อมูลไปใช้ในบิ๊กดาต้าเราก็ไม่ยี่หระ ทั้ง ๆ ที่มีทางเลือกอื่นอีกมากมาย อาทิ Ecosia ที่หน้าตาเรียบง่ายกว่า แถมยังมีแคมเปญปลูกต้นไม้หนึ่งต้นต่อทุก ๆ 45 การค้นหาบนเว็บไซต์ของเขา ส่วนทาง Microsoft ก็อ้างว่าภายในปี 2030 ทุก ๆ การค้นหาบน Bing จะมีคาร์บอนฟุตพริ้นท์เป็นค่าติดลบ หมายความว่ายิ่งใช้ก็จะยิ่งรักษ์โลก ซึ่งก็ต้องดูกันต่อไปว่าจะทำได้อย่างที่โฆษณาไว้หรือเปล่า แต่ไม่ลองก็ไม่รู้ครับ

7. เปลี่ยนมือถือเท่าที่จำเป็น จากรายงานของกรีนพีชทำให้เราทราบแล้วว่า ขั้นตอนการผลิตมือถือสักเครื่องหนึ่งใช้พลังงานมากแค่ไหน จากการศึกษาของมหาวิทยาลัย Edinburgh พบว่า หากเราใช้มือถือเครื่องเดิมนานขึ้นจากค่าเฉลี่ย 4 ปี เป็น 6 ปี เราจะสามารถลดคาร์บอน ได้ถึง 190 กิโลกรัมเลยทีเดียวครับ

ทำเลยนะครับ… เรามาร่วมมือกันเพื่อโลกและลูกหลานของเราในวันที่ยังไม่สายเกินแก้ครับ!

ที่มา : “Why your internet habits are not as clean as you think”, bbc.com

บทความโดย รชต ว่องการวาณิชย์