งานสัมมนา “ทางออกจากวิกฤตโลกร้อนกับความจริงที่ไม่มีใครพูดถึง” ที่จัดโดย KBO Earth ณ สโมสรทหารบกฯ เมื่อเดือนมิถุนายน 2562 ได้เผยความจริงให้โลกได้รู้ว่า การใช้งานดิจิทัลดาต้าและอินเทอร์เน็ตเป็นปัจจัยเร่งทำให้ภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้น ด้วยเหตุผลหลัก 3 ประการ นั่นคือ

  • ประการแรก กระแสไฟฟ้าส่วนใหญ่ที่ใช้เพื่อให้ดิจิทัลดาต้าและอินเทอร์เน็ตทำงาน มีแหล่งกำเนิดมาจากพลังงานฟอสซิล ซึ่งเมื่อถูกเผาผลาญในกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าจะก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก เมื่อความต้องการใช้ดิจิทัลดาต้าในระบบอินเทอร์เน็ตมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นย่อมมีส่วนทำให้โลกร้อนขึ้นอย่างมากเช่นกัน เนื่องจากดิจิทัลดาต้าทุก ๆ ไบต์ที่รับส่งต้องอาศัยดาต้าเซ็นเตอร์ เน็ตเวิร์ค และอุปกรณ์ไคลแอนต์ที่กินพลังงานแบบเต็มพิกัด ทำให้เกิดความต้องการใช้กระแสไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นมากถึง 55% ของการผลิตต่อปี และมีดาต้าแทรฟฟิค (data traffic) ที่เติบโตเพิ่มขึ้นกว่า 25% ต่อปี
  • ประการที่สอง เมื่อดิจิทัลดาต้าและอินเตอร์เน็ตทำงาน จะเกิดการถ่ายเทความร้อนของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้าสู่บริเวณใกล้เคียงและบรรยากาศรอบข้าง ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่า ดาต้าเซ็นเตอร์ต้องอยู่ในสภาพที่มีการควบคุมอุณหภูมิให้เย็นด้วยเครื่องปรับอากาศ หรือผู้ให้บริการดิจิทัลบางรายได้ทยอยสร้างและย้ายดาต้าเซ็นเตอร์ไปตั้งไว้ในประเทศแถบขั้วโลก หรือแม้กระทั่งสร้างไว้ใต้น้ำ
  • ประการสุดท้าย คลื่นไมโครเวฟที่เป็นสื่อกลางให้ดิจิทัลดาต้าสามารถวิ่งส่งผ่านไปในอากาศแบบไร้สายได้นั้น เป็นมลพิษต่อโลกเช่นกัน

ด้วยความน่ากลัวของการใช้งานดิจิทัลดาต้าที่มีผลต่อภาวะโลกร้อนดังกล่าว บทความนี้จึงขออธิบายวิธีการเยียวยาภาวะโลกร้อนด้วยการจัดการดิจิทัลดาต้าอย่างยั่งยืนกัน

ขอย้อนทวนความไปถึงบทความก่อนหน้า (“สตรีมมิ่งวิดีโอเป็นตัวเร่งให้โลกร้อนจริงหรือ?”) ที่ว่า งานวิจัยของ The Shift Project พบว่า ดิจิทัลดาต้าที่เป็นวิดีโอเป็นประเภทข้อมูลที่มีสัดส่วนถึง 80% ของปริมาณดิจิทัลดาต้าทั้งหมดทั่วโลกในปี ค.ศ. 2018 นั่นหมายความว่า เพียงแค่ 20% ที่เหลือของดิจิทัลดาต้าทั้งหมดนั้น เป็นดิจิทัลดาต้าประเภทเว็บไซต์ต่าง ๆ และ ข้อมูลด้านอื่น ๆ ดังนั้น การใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลที่เกินตัวมักจะอยู่ในส่วนที่เป็นข้อมูลประเภทวิดีโอ และเมื่อมีการพัฒนาความละเอียดของวิดีโอที่สูงมากยิ่งขึ้น อาทิ ความละเอียดระดับ “8K” ย่อมทำให้การใช้พลังงานไฟฟ้าสูงขึ้นตาม (ซึ่งยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในเรื่องความจำเป็น เพราะวิดีโอที่มีความละเอียดต่ำกว่า น่าจะเพียงพอแล้วสำหรับการใช้งานในปัจจุบัน)

ที่น่าสนใจคือ วิดีโอออนไลน์ชนิดต่าง ๆ ที่เมื่อเราเจาะเข้ามาดูรายละเอียด จะพบว่าประกอบไปด้วย VoD (Video on Demand) (34%) รองลงมาคือ วิดีโอเรต 18+ (27%), Tubes (21%), และอื่น ๆ (18%) ก่อให้เกิดคำถามท้าทายที่ว่า ประโยชน์ที่แท้จริงในการใช้งานวิดีโอออนไลน์เหล่านี้คุ้มค่ากับการใช้ทรัพยากรพลังงานฟอสซิลที่มีอยู่อย่างจำกัดและส่งผลให้เกิดก๊าซเรือนกระจกหรือไม่? แล้วเราจะช่วยกันลดการใช้งานวิดีโอออนไลน์ (หรือถึงขั้นงดการใช้ไปเลย) ได้อย่างไร เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติอย่างแท้จริง?

ข้อเสนอแนะอย่างเป็นระบบที่ The Shift Project นำเสนอเพื่อเยียวยาภาวะโลกร้อนนั้น คือ “ความมีสติในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (digital sobriety)” ซึ่งในที่นี้จะต้องอาศัยวินัยและระเบียบปฏิบัติในการใช้งาน เพื่อให้มีกรอบของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้อย่างเหมาะสม ภายใต้ทรัพยากรที่มีจำกัดและการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เครื่องมือหลักสำคัญที่จะใช้ คือการออกแบบระบบที่สอดคล้องกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างยั่งยืน

ท่านเคยสังเกตวิดีโอออนไลน์ที่เราเห็น ๆ กันอยู่หรือไม่ว่า มันจะถูกออกแบบมาให้มีฟังก์ชั่นการเล่นอัตโนมัติ (auto-play) และวิดีโอฝังตัว (embedded videos) ตามสื่อโซเชียลต่าง ๆ เป็นต้น ฟังก์ชั่นเหล่านี้เรียกว่า “การออกแบบให้เสพติด” (addictive designs) เพราะเป็นการออกแบบที่มุ่งเน้นถึงปริมาณมากสุดของเนื้อหาที่จะนำเสนอต่อผู้บริโภค การออกแบบจึงมีส่วนสำคัญประการหนึ่งที่จะกำหนดว่าการใช้งานจะมีรูปแบบเป็นอย่างไร และจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร (ซึ่งมักจะถูกมองข้ามในตอนที่ออกแบบ) ดังนั้น การใช้งานวิดีโอออนไลน์จึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของผู้บริโภคเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับการออกแบบระบบของผู้ให้บริการด้วย การลดการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพจึงต้องอาศัยกลไกในการสร้างให้เกิดการใช้งานอย่างรอบคอบถ้วนถี่ ทั้งในแง่ของการออกแบบของผู้ให้บริการและการตัดสินใจลดใช้งานของผู้บริโภค เพราะอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอเสียแล้วที่จะเร่งให้เกิด digital sobriety ได้ ในเวลาที่โลกกำลังถูกทำลายจากภาวะโลกร้อนไม่เว้นแต่ละวัน…

ในระดับของผู้ให้บริการดิจิทัล โดยเฉพาะวิดีโอออนไลน์ การเลือกออกแบบบริการดิจิทัลถือเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติ อาทิ การเลือกความละเอียดของวิดีโอให้เหมาะสมกับการใช้งานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยการเลือกถ่ายทอดสดผ่านโทรทัศน์ที่มีการกระจายสัญญาณแบบอนาล็อกจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าการถ่ายทอดสดผ่านวิดีโอสตรีมมิงทั่วโลก

ในระดับปัจเจกบุคคล การใช้วิดีโอออนไลน์อย่างรอบคอบ หมายถึง หากมีความจำเป็นที่จะใช้วิดีโอออนไลน์ก็เลือกใช้วิดีโอที่มีความละเอียดต่ำสุด หลีกเลี่ยงการอัปโหลดวิดีโอไว้ในคลาวด์ เพราะจะมีการสำรองข้อมูลทันทีและทุกครั้งจำเป็นต้องใช้พลังงานไฟฟ้า หากจำเป็นก็ไม่ควรเก็บไว้ในคลาวด์นานเกินไป ควรลบออกเสียบ้างหรือทำสำเนาแบบออฟไลน์ถ้าเป็นวิดีโอสำคัญ การเชื่อมต่อออนไลน์เมื่อใช้งานวิดีโอควรที่จะหลีกเลี่ยงการใช้ mobile data เพราะจะใช้พลังงานไฟฟ้าที่มากกว่าเพื่อการบูสต์สัญญาณ เมื่อมีสัญญาณขาด (signal-loss) การเลือกใช้ wifi หรือ อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ผ่านใยแก้วนำแสง จะมีการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพดีกว่า

ในระดับภาคีความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ เริ่มตั้งแต่ผู้บริโภค ผู้ให้บริการดิจิทัล ภาครัฐ เอกชน NGO ทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ การจัดตั้งหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำหนดแนวทางและระเบียบปฏิบัติที่ชัดเจนอาจมีความจำเป็นเพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วน มีการแสดงความคิดเห็นและถกเถียงในเรื่องความจำเป็น ลำดับความสำคัญ ผลดี ผลเสียของการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อให้เกิดความยั่งยืนและลดอัตราเร่งของวิกฤตโลกร้อน

ในความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ข้อเสนอแนะของ The Shift Project นั้นน่าสนใจไม่น้อยทีเดียวและถ้านำไปปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรมก็น่าจะส่งผลให้ภาวะโลกร้อนบรรเทาลงได้อย่างมีนัยสำคัญ หากแต่อุปสรรคและความท้าทายที่รออยู่ คือ ความเร่งด่วนของวิกฤตโลกร้อนกับเวลาที่เหลืออยู่เพื่อการแก้ไข การประสานความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ การยอมรับถึงระดับความสำคัญของปัญหา และแนวทางการออกมาตรการต่าง ๆ บริบทด้านวัฒนธรรม และค่านิยมในสังคมนั้น ๆ ล้วนแต่ต้องใช้เวลา ความมุ่งมั่น และความอดทนทั้งสิ้น

แต่ที่แน่ ๆ ในฐานะปัจเจกบุคคล ผู้เขียนมีความเชื่อมั่นว่าหนทางที่ยั่งยืนเพื่อการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง ควรเริ่มต้นที่ “จิตสำนึก” ของเราทุกคน หากเราได้ให้และแบ่งปันความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องในความสำคัญและความเร่งด่วนของวิกฤตโลกร้อน การมีส่วนร่วมรับผิดชอบจากหน่วยที่เล็กที่สุดของสังคมย่อมสามารถขับเคลื่อนเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ที่นำไปสู่การแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนได้ นั่นคือ การตระหนักรู้ว่าเราจำเป็นต้องใช้วิดีโอออนไลน์เพื่ออะไร และจะใช้อย่างไรเพื่อส่งผลต่อโลกให้น้อยที่สุดนั่นเองครับ

บทความโดย  พีรพงษ์ เจียรณัย

ประวัติผู้เขียน

เป็นนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ และอดีตผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีเชิงธุรกิจและการวางระบบข้อมูลสำหรับผู้บริหารของบริษัทน้ำมันข้ามชาติมากว่า 20 ปี มีความสนใจด้าน MI, BI, บิ๊กดาต้า วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม และปรัชญา

.

.

.

SAVE THE CLIMATE

Together with KBO EARTH

——————————–

“ลด” การใช้อินเทอร์เน็ต

“ลบ” ข้อมูลดิจิทัลที่ไม่จำเป็น

“ลด” การใช้พลาสติก และ กระแสไฟฟ้า

“เพิ่ม” ชีวิตสีเขียว, ปลูกต้นไม้ และ ปลูกป่า

“4 ชม. ปิด WIFI” งดใช้อินเทอร์เน็ตในช่วงเช้าของวันอาทิตย์ 06.00 น.-10.00 น.

———————————–

#KBOEARTH

#The Unspoken Truth of Climate Crisis